ทำไมต้องลงทุนใน EEC และ EEC คืออะไร?

บทความโดย ดร.อรุณ ศิริจานุสรณ์

ณ วันที่รอคอยการจัดตั้งทีมเศรฐกิจใหม่ (ขุนคลังท่านใหม่) ที่นำโดยท่านนายกรัฐมนตรีท่านเดิมของพวกเรา ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจนว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะขุนคลังคนใหม่ถอดด้าม ที่ท่านทั้งหลายคาดหมายไว้ จะมุ่งต่อยอดนโยบายในช่วงก่อนหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศยังสาหัสค่อนข้างมาก ความไม่แน่นอนจึงเหลือเพียงว่าขุนคลังท่านใหม่ จะสามารถจัดตั้งได้เมื่อใด ข่าวว่าไม่เกินกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอาจมีนัยต่อการล่าช้าของระยะเวลาในการประกาศใช้งบประมาณ ปี 2563 ได้ และการเบิกจ่ายลงทุนโครงการใหม่ของรัฐบาล หากเรามองย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมาก่อนมี COVID-19 แนวคิดอาจมีข้อเสนอด้านนโยบายของทีมทำงานเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่แตกต่างกัน โดยบางกลุ่มย่อยเสนอให้ยกเลิกนโยบายหลัก อาทิ นโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น ท่ามกลางความหลากหลายของนโยบายเศรษฐกิจ เป็นที่น่าสังเกตว่าแทบทุกกลุ่มย่อย มีความเห็นร่วมกันว่ายังควรสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจสำคัญประการหนึ่ง คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor- EEC จึงเป็นที่มาของคำถามว่าทำไมต้อง EEC?

หลายท่านอาจถามกลับว่า ทำไมจะไม่? ในเมื่อแท้จริงแล้วโครงการ EEC เป็นการปัดฝุ่น หรือ re-launch โครงการที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เกือบ 30-40 ปีก่อน คือ เขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น มีแผนการลงทุนรอบด้านมากขึ้น และถูกคาดหวังให้เป็นหัวจักรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในระยะต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่การลงทุนภาคเอกชน มีบทบาทลดลง จึงต้องกระตุ้นให้เกิดวัฏจักรการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างการจ้างงาน และรายได้ อันจะนำมาสู่การเติบโตของกำลังซื้อ และการใช้จ่ายในประเทศ (ณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล 2562) ในวันนี้จึงขอแลกเปลี่ยนความคิดกับทุกท่านด้วยการประมวลเหตุผลสามข้อที่อธิบายว่าทำไมต้อง EEC? ดังต่อไปนี้

ประการแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC มีความโดดเด่นแตกต่างจากพื้นที่อื่น โดยข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2562 จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ สะท้อนว่าโดยเฉลี่ยแล้วภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่สามจังหวัด EEC มีสัดส่วนการจ้างงานแรงงาน มีทักษะร้อยละ 39 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ร้อยละ 29 ได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนถึงร้อยละ 13 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ร้อยละ 3.5 มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ร้อยละ 5.6 ตลอดจน มีสัดส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัย และพัฒนาที่ร้อยละ 8 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ร้อยละ 3 (ซึ่งน้อยมากๆๆ) เป็นต้น

ประการต่อมา พื้นที่ EEC มีทำเลที่ตั้ง และศักยภาพในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งภายใน และระหว่างประเทศ โดยมีความพร้อม ที่จะเป็นศูนย์กลางทั้งในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการท่องเที่ยว ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ทั้งบก รางน้ำ และอากาศ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น ในเชิงนวัตกรรมร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง 5G ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะข้างหน้า

ประการสุดท้าย โครงการ คอนโด EEC ได้ปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายในหลายด้าน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบาย ตัดสินใจ และมีกฎหมาย ที่สามารถดำเนินการอนุมัติอนุญาตได้ 8 ฉบับ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร คนเข้าเมือง โรงงาน การจัดสรรที่ดิน การแปรรูปสินค้า การปรับแต่งพันธุกรรม เป็นต้น จึงช่วยกระชับขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ และเอื้อให้ไทยสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูงและเทคโนโลยีนวัตกรรม ผ่านการสร้างแรงดึงดูดนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมกลุ่มเป้าหมายจากต่างประเทศได้

โดยสรุปแล้ว ความโดดเด่นของอุตสาหกรรม ทำเลที่ตั้ง และศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งโครงข่ายระบบสาธารณูปโภคในอนาคต (แล้วเสร็จทั้งหมด ปี 2570) ตลอดจนการลดข้อติดขัดด้านกฎเกณฑ์ เป็นคำตอบของคำถามว่าทำไมต้อง EEC? แต่คำถามต่อไป คือ ทำไมแค่ EEC? เพราะหากเราจำกัดการพัฒนาให้กระจุกตัวเช่นนี้แล้วเราจะเจอปัญหาการโตเดี่ยวของเมืองเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ หรือไม่ ดังนั้น คำถามที่ขอทิ้งท้ายไว้ คือ เราจะวางแผนควบคู่กันไปอย่างไรให้การพัฒนาในพื้นที่ EEC ส่งผลบวกกระจายออกในวงกว้าง เพื่อที่คนไทยจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและยั่งยืน?