กฎหมายที่จอดรถคอนโด รู้ไว้ก่อนอยู่อาศัย

การตัดสินใจเลือกซื้อคอนโด สิ่งหนึ่งที่นับเป็นเรื่องสำคัญนั่นก็คือ เรื่องพื้นที่จอดรถ เนื่องจากหลายคนแม้อาจเลือกที่พักอาศัยจากความสะดวกสบายด้านการเดินทางจากรถสาธารณะแล้ว การมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บรถยนต์ส่วนบุคคลก็จำเป็น เพราะในวันหยุดสุดสัปดาห์หรืออาจเป็นวันธรรมดาที่ไม่ได้เร่งรีบมากนัก รถยนต์จะสามารถถูกนำมาใช้งานได้ เพื่อตอบสนองในทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิต

ทว่าในความเป็นจริง คอนโดที่มีพื้นที่จอดรถเต็มพื้นที่ 100% หรือเต็มจำนวนยูนิตแบบ 1 ห้องต่อ 1 คันนั้นในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากการมีพื้นที่จอดรถเพียงพอต่อผู้อยู่อาศัยแบบ 1 ต่อ 1 นั้นจะสัมพันธ์กับราคาที่ค่อนข้างสูงของโครงการ ทำให้เรื่องนี้ก็มีกฎหมายออกมากำหนดเช่นกัน


จำนวนที่จอดรถของคอนโด

กฎหมายที่จอดรถตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 7 และ พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ซึ่งคอนโดมิเนียมจะจัดอยู่ในประเภทของที่อยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด โดยแบ่งจำนวนพื้นที่จอดรถ จะต้องพิจารณา 2 กรณี คือ

คำนวณตามพื้นที่การใช้สอย แบ่งเป็น

  • ในเขตพื้นที่ กทม. ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตร.ม.ขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน / 1 ห้อง
  • นอกเขตพื้นที่ กทม. ห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตร.ม.ขึ้นไป จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน / 2 ห้อง

คำนวณตามขนาดของอาคาร ทั้งนี้ อาคารใดที่มีพื้นที่ก่อสร้างมากกว่า 1000 ตร.ม. และ สูง 15 เมตรขึ้นไป หรือ อาคารที่มีพื้นที่ก่อสร้างเกิน 2000 ตร.ม. จะถูกแบ่งเป็น

  • ในเขตพื้นที่ กทม. ทุก ๆ พื้นที่ก่อสร้าง 120 ตร.ม. จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน
  • นอกเขตพื้นที่ กทม. ทุก ๆ พื้นที่ก่อสร้าง 240 ตร.ม. จะต้องมีที่จอดรถ 1 คัน

กฎหมายนี้ คอนโดจะต้องคำนวณโดยนำจำนวนที่จอดรถมาเปรียบเทียบกับจำนวนยูนิตห้องในโครงการ และหาออกมาเป็น % ของที่จอดรถคอนโด ซึ่งเจ้าของโครงการต้องมี % ที่จอดรถไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และควรก่อสร้างให้มีที่จอดรถให้ได้มากที่สุด

ขนาดและรูปแบบที่จอดรถ

ตามกฏหมาย ที่จอดรถ 1 คันนั้น จะต้องมีขนาดอย่างน้อย 2.4 x 5 เมตร เพื่อให้สามารถครอบคลุมพื้นที่การจอดรถให้เป็นระเบียบ โดยมีรูปแบบการจัดสรรที่จอดรถอยู่ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

  • จอดขนาน หรือเอียงไม่เกิน 30 องศา โดยต้องมีทางถนนวิ่งไม่น้อยกว่า 3.50 เมตร
  • ที่จอดรถที่มีช่องเอียง 30-60 องศา โดยต้องมีทางถนนรถวิ่งไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร
  • ที่จอดรถที่มีช่องเอียง 60-90 องศา โดยต้องมีทางถนนรถวิ่งไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร
  • ที่จอดรถที่อยู่ด้านหน้าอาคารที่เป็นช่อง 90 องศา ซึ่งตรงนี้ส่วนใหญ่การทำพื้นที่จอดรถ สถาปนิกจะวางให้สัมพันธ์กับแนวเสา เช่น ระยะห่างระหว่างเสายาว  8 เมตรจะสามารถจอดรถได้ 3 คัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณ % ที่จอดรถของคอนโดมีเนียมออกมาตามกฎหมาย อาจพบกับปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอในแต่ละโครงการ ดังนั้น เราจึงอาจพบกับการแก้ปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ ของโครงการ เช่น การสร้างที่จอดรถอัตโนมัติ หรือจอดชั่วคราว โดยเลี่ยงการก่อสร้างพื้นที่ทางเดินรถ การเก็บค่าจอดรถเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่อาจใช้พื้นที่ทั้งหมดของที่จอดรถในโครงการเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ใครมาก่อนได้จอดก่อน และอาจให้จอดซ้อนคัน แต่ถ้าหากบางโครงการที่มีราคาสูงอาจมีการขายห้องพร้อมกับโฉนดที่จอดรถ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีที่จอดรถประจำของตนเอง

และนี่ก็คือ กฎหมายที่จอดรถในคอนโด ที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้ เผื่อในกรณีที่เราจำเป็นต้องตัดสินใจในการเลือกที่อยู่อาศัยโดยที่มีรถยนต์ส่วนตัวเข้าไปจอดภายใน เพื่อคิดแก้ปัญหาตั้งแต่เบื้องต้นก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย

ขอบคุณบทความจาก zmyhome.com


พรีโม แมเนจเม้นท์ รับบริหารอาคารชุด บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด พร้อมช่างอาคาร นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร บริการงานรักษาความสะอาด และบริการรักษาความปลอดภัย