ทำความรู้จักกับ “เงินกองทุน” ของนิติบุคคลอาคารชุด

บริหารนิติบุคคลอาคารชุด
การเป็นเจ้าของห้องชุดนั้นนอกจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือนแล้ว ในวันโอนกรรมสิทธิ์ท่านต้องจ่าย “เงินกองทุน” ด้วย ตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลาง แต่จะจ่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือบางคนที่ไปซื้อคอนโดฯ มือสอง หรือซื้อต่อจากเจ้าของอื่นที่ได้จ่ายเงินกองทุนไปแล้ว ท่านก็ไม่ต้องจ่ายอีก
การเก็บเงินกองทุนนี้เป็นไปตามกฎหมายอาคารชุด ที่กำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้จัดการนิติบุคคลจัดเตรียมไว้สำหรับดำเนินการบริหาร โดยกำหนดวัตถุประสงค์ในการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักไว้ 5 ประการดังนี้
1. ไว้ใช้จ่ายหมุนเวียนในช่วงแรกที่ยังจัดเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ไม่ครบถ้วน และไม่พอกับรายจ่ายแต่ละเดือน และเมื่อเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ครบถ้วนและเพียงพอแล้ว ก็จะนำมาคืนกลับเข้าบัญชี “เงินกองทุน” เหมือนเดิม
2. เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง (เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นและมีค่าใช้จ่ายสูง โดยจะเสนอให้คณะกรรมการและหรือที่ประชุมใหญ่พิจารณาตัดสินใจ)
3. เป็นเงินทุนสำรองในการซ่อมแซมกรณีฉุกเฉิน
4. เก็บไว้ใช้จ่ายในการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในอนาคต
5. ใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการและหรือที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม
การกำหนดวงเงิน “เงินกองทุน” ปกติกำหนดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือค่าส่วนกลางที่เกิดขึ้นในอาคารชุดนั้นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนกลางเดือนละ 10 ล้านบาท เงินกองทุนขั้นต่ำต้องมี 100 ล้านบาท และปกติเงินกองทุนจะถูกเก็บไว้ในบัญชีเงินฝาก หรือจัดตั้งเป็นกองทุนที่มีการบริหารให้เกิดดอกผลหรือกำไร และอาจนำมาสมทบสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางในแต่ละเดือนก็ได้
อย่างไรก็ตามบางโครงการที่โฆษณาขายคอนโดฯ ว่าเก็บเงินค่าส่วนกลางและเงินกองทุนเพียงครั้งเดียว โดยบริษัทจะสมทบเงินให้ด้วยส่วนหนึ่ง จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะยังไงๆ เจ้าของโครงการย่อมต้องมีภาระในค่าส่วนกลางของยูนิตที่ยังขายไม่ได้อยู่แล้ว