เผยขั้นตอนง่าย ๆ สำหรับ การแจ้งที่พักอาศัยให้กับชาวต่างชาติ ตม.30

การแจ้งที่พักอาศัยให้กับชาวต่างชาติ ตม.30

ตาม พระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 ได้กำหนดไว้ว่า “เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นอยู่ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย” ซึ่งข้อกำหนดนี้เป็นที่มาของ การแจ้งที่พักอาศัยให้กับชาวต่างชาติ ตม.30

การแจ้งที่พักอาศัยให้กับชาวต่างชาติ ตม.30 คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

การแจ้งที่พักอาศัยให้กับชาวต่างชาติ ตม.30 หมายความว่า เราคนไทยที่เป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโด หรือแม้แต่ผู้จัดการโรงแรม ที่ทำการให้ที่พักอาศัยแก่ชาวต่างชาติ จะต้องทำการแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐรับทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เข้ามาพักอาศัย ซึ่งหากคนไทยไม่ทำการแจ้ง มีโทษปรับระหว่าง 800-2,000 บาท 

ทำไมถึงต้องรีบแจ้งภายใน 24 ชม. นั้นเกิดเนื่องจากมาตรการการป้องกันการก่อการร้าย ที่กำลังคุกคามโลกในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือกับ Interpol และกองกำลังตำรวจนานาชาติ เพื่อช่วยยับยั้งผู้ก่ออาชญากรรมที่เข้ามาหลบหนี และพำนักพักพิงอยู่ในประเทศไทย

กฎหมายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มการสอดส่องดูแลชาวต่างชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะมาท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย หรือมาอาศัยอย่างถาวรก็ตาม และยังเป็นการเก็บข้อมูลการท่องเที่ยวของภาครัฐอีกด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองใช้เพื่อควบคุมมิให้ชาวต่างชาติอยู่นานเกินระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด หรือเข้ามาทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย

ทำไม ตม. 30 รอบคลุมถึงเคหสถาน

การที่ตม. 30 รอบคลุมถึงเคหสถาน ทำให้แขกต่างประเทศเข้ามาพักในบ้าน ต้องทำการแจ้ง ตม. 30 ไม่อย่างนั้น คุณจะมีความผิดทางกฎหมาย

โดยปกติแล้ว เมื่อชาวต่างชาติเข้าพักในโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ อพาร์ตเม้นต์ บ้านเช่า หรือสถานประกอบการอื่นๆ ที่มีห้องพักมากกว่า 4 ห้องขึ้นไป ผู้ประกอบการจะมีหน้าที่ในการทำสำเนาหนังสือเดินทางและวีซ่าของพวกเขา และรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่โดยส่วนมากแล้วผู้ประกอบการที่ไม่ใช่โรงแรมมักจะละเลยหรือไม่ทราบถึงบทบัญญัติดังกล่าว เพราะทางรัฐไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มงวดเท่าใดนัก

แต่ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ในปัจจุบันรัฐฯ ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวด และได้ขยายข้อบัญญัติไปอีกระดับขั้น ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการแล้ว เพื่อนสนิท มิตรสหาย ญาติ หรือใครก็ตามที่ให้ที่พักพิงแก่ชาวต่างชาติ จะจำเป็นต้องทำการรายงานต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วยเช่นกัน 

รัฐฯ มักจะพบการฝ่าฝืนเมื่อชาวต่างชาติเข้าไปเช็คอินครบ 90 วันที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือเมื่อเข้าไปขอต่ออายุวีซ่า ซึ่งผู้ถูกปรับจะไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่เป็นผู้ประกอบการหรือผู้ที่ให้ที่พักพิงแก่พวกเขา ดังนั้นคุณควรจะระวังและให้ความสำคัญต่อ ตม. 30 เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าคุณจะได้มอบความรับผิดชอบการให้เช่าที่พักอาศัยไว้กับนายหน้าหรือผู้ดูแลก็ตาม หากนายหน้าละเลยที่จะรายงานต่อตม. แล้ว คุณก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงและเสียค่าปรับเพราะคุณเป็นเจ้าของเคหสถาน อย่างไรก็ดี ทางสำนักงานฯ ได้อำนวยความสะดวกในการรายงาน ตม. 30 ให้ง่ายขึ้น ด้วยระบบออนไลน์

กฎหมายส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อชาวต่างชาติหรือบุคคลต่อไปนี้:

  • ชาวต่างชาติที่เข้าพักในสถานที่โดยไม่มีใบอนุญาต (โรงแรมหรือวิลล่า/คอนโด/อพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีใบอนุญาต)
  • ชาวต่างชาติเข้าพักในสถานที่ของเพื่อนชาวไทย
  • ชาวต่างชาติที่มีบ้านและอาศัยอยู่ในประเทศไทย
  • ชาวต่างชาติที่มีชื่อเป็นเจ้าของร่วม บ้านหรือคอนโดในประเทศไทย

แจ้ง ตม.30 ได้อย่างไร ?
เจ้าของบ้านที่มีผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติอยู่นั้นมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นรายงาน ตม.30 ให้แก่ผู้เช่า ตามกฎหมายข้อบังคับของไทย โดยเจ้าของบ้านหรือตัวแทนของเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมเอกสารตามล่างนี้

เอกสารฝ่ายเจ้าของบ้าน
1.       เจ้าของบ้านจะต้องกรอกฟอร์ม ตม.30
2.       สำเนาบัตรประชาชน หรือ หนังสือเดินทางของเจ้าของบ้าน
3.       สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ โฉนดที่ดิน
4.       สำเนาสัญญาเช่า

เอกสารฝ่ายผู้เช่า
1.       สำเนาหนังสือเดินทางของผู้เช่าชาวต่างชาติ
–        โดยสำเนาหนังสือเดินทางนี้จะต้องมีรูปถ่ายของผู้เช่าและข้อมูลของหนังสือเดินทาง
–        สำเนาหนังสือเดินทางหน้าวีซ่า
–        สำเนาหนังสือเดินทางหน้าที่มีตราประทับขาเข้า

หมายเหตุ : เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามด้านบนนี้จะต้องถูกรับรองด้วยหมึกสีน้ำเงินโดยเจ้าของเอกสาร

แจ้ง ตม.30 ได้ที่ไหน ?

ณ ปัจจุบันการ แจ้ง ตม.30 สามารถทำได้สะดวกมากขึ้นหากเทียบกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โดยวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด ง่ายที่สุด และ เร็วที่สุด คือการแจ้งออนไลน์ เพื่อความสะดวกให้แก่เจ้าของบ้านมากยิ่งขึ้น และเพื่อความสะดวกนอกจากออนไลน์แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีดังนี้

วิธีการยื่นมีทั้งหมด 3 แบบ คือ

วิธีที่ 1 นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง

นำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นนำเอกสารมาแจ้ง ที่ช่องบริการแจ้งที่พักอาศัย (ตม.30) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ (ตามวันและเวลาราชการ)

วิธีที่ 2 แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

1. กรอกแบบฟอร์มการแจ้ง พร้อมลงชื่อผู้แจ้งให้เรียบร้อย

2. ซองจดหมายขนาด 6.5 x 9 นิ้ว พร้อมติดแสตมป์ 10 บาท จ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง เพื่อส่งใบรับแจ้งของเจ้าหน้าที่คืน

3. นำเอกสารข้อ 1-2 ใส่ซองลงทะเบียน (เก็บใบลงทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน) ส่งตามที่อยู่ ดังนี้

งานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว กองกำกับการ 2 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

วิธีที่ 3 แจ้งทางอินเตอร์เน็ต (Internet)

ลงทะเบียนขอใช้บริการแจ้งที่พักอาศัยทางระบบอินเตอร์เน็ตที่ www.immigration.go.th ในหน้าต่าง การแจ้งที่พักอาศัย เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและอนุมัติแล้ว จะแจ้งรหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน สำหรับเข้าใช้ระบบไปยัง e-mail ที่ลงทะเบียน

หรือถ้ามีข้อสงสัยให้โทรไปที่ 092-3540039 เป็นเบอร์กลางออฟฟิศของฝ่ายงานแจ้งที่พักอาศัยบุคคลต่างด้าว

หรือ อ่านข้อมูลเองได้ที่ https://www.immigration.go.th/index

ลิงค์โดยตรง คลิก >>>>>>>>>>>> แจ้ง ตม.30

วิธีการกรอกบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย(แบบ ตม.30)

กรณีมาแจ้งด้วยตนเองหรือแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน 

แบบการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย สำหรับเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหะสถาน(ตม.30) ประกอบด้วยเอกสาร 2 ส่วน(2 แผ่น)ด้วยกัน ส่วนแรก เป็นการกรอกรายละเอียดข้อมูลของเจ้าบ้านฯและที่ตั้งสถานที่ที่มีคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ส่วนที่ 2 เป็นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัย

การกรอกรายละเอียดในแบบตม.30 ส่วนที่ 2 ขอให้ท่านดำเนินการกรอกให้ครบทุกช่อง โดยให้ดูจากหนังสือเดินทางของบุคคลต่างด้าวเป็นหลัก เนื่องจากรายละเอียดของบุคคลต่างด้าว ซึ่งบุคคลต่างด้าวเขียนให้ก่อนเข้าพักอาศัยมักไม่ถูกต้อง และการกรอกให้ใช้วิธีพิมพ์หรือเขียน ถ้าเป็นการเขียนให้เขียนเป็น BLOCK LETTER และมีข้อพึงระวังในการกรอกดังนี้

        1. ชื่อคนต่างด้าว ต้องเว้นช่องว่างระหว่าง ชื่อตัว ชื่อกลาง ชื่อสกุล ให้เห็นชัดเจน

        2. เลขที่หนังสือเดินทาง หากมีตัวหนังสือข้างหน้า หรือข้างหลังตัวเลขให้เขียนลงไปด้วย

        3. ช่องบัตรขาเข้าเลขที่ ให้กรอกเลขที่บัตรขาเข้า(บัตร ตม.6) ซึ่งแนบอยู่ในหนังสือเดินทาง โดยกรอกเช่นเดียวกับ

        4. การกรอกเลขที่หนังสือเดินทาง กล่าวคือ หากมีตัวหนังสือ ให้กรอกตัวหนังสือลงไปด้วย

         5. วันเดินทางเข้า หมายถึง วันที่คนต้างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สำหรับวันที่เข้าพัก ให้กรอกลงใน

แผ่นหน้าของใบแจ้งรับคนต่างด้าว เข้าพักอาศัย พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลในแบบ ตม.30 เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกรอกข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรับแจ้งและฉีกแบบ ตม.30 ส่วนล่างให้ผู้แจ้งเก็บรักษาต่อไป