กฎหมายไทยกำหนดให้ตึกที่สูงเกิน 4 ชั้น หรือสูง 3 ชั้นแล้วมีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟ และสำหรับอาคารสูง (สูงเกิน 23 เมตร=ประมาณ 6-7 ชั้น) และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (พื้นที่ใช้สอยเกิน 1,000 ตารางเมตร) ต้องมีบันไดหนีไฟที่มีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีกขั้น
หากท่านอยู่ในอาคารสูง ที่ขออนุญาตและก่อสร้างถูกต้อง อาคารของท่านก็จะมีบันไดหนีไฟที่มีจำนวน ขนาด คุณสมบัติ และระยะใกล้ไกล ตามที่กฎหมายกำหนดแน่นอน ฉะนั้นคอนโดมิเนียมที่มักเป็นอาคารสูง ย่อมตกอยู่ในข่ายนี้
แต่ถึงสร้างอย่างถูกต้องเรียบร้อย ก็อาจจะยังมีปัญหาจากการใช้งาน ทำให้บันไดหนีไฟที่สร้างไว้ไม่ได้ปลอดภัยอย่างแท้จริง หนึ่งในปัญหานั้นก็คือ การเปิดประตูบันไดหนีไฟทิ้งเอาไว้ตลอดเวลา
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ประตูบันไดหนีไฟถูกเปิดทิ้งไว้ ก็เพราะว่าระบบการรักษาความปลอดภัยบางแห่งออกแบบให้ประตูบันไดหนีไฟ ใช้ระบบเปิดออกไปบันไดหนีไฟได้ แต่เปิดเข้าไม่ได้ (หนีไฟได้ แต่กันขโมยเข้าทะลุทะลวงทุกชั้น)
แต่เมื่อถึงเวลาใช้งานจริง อาจมีการใช้บันไดหนีไฟเป็นบันไดขึ้นลงระหว่างชั้น หรือไม่ก็ใช้เป็นที่พักผ่อน สูบบุหรี่ คุยกัน จึงมักมีคนถือวิสาสะแง้ม ง้าง หรือเปิดประตูหนีไฟไว้ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัย และกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้
บันไดหนีไฟนอกจากจะถูกออกแบบไว้ให้กันไฟได้ในเวลาพอสมควรเพื่อเป็นช่องทางอพยพผู้คนเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ต้องกันควันไฟได้ด้วย
บันไดหนีไฟจึงต้องมีช่องถ่ายเทอากาศจากภายนอกอาคาร หรือไม่ก็ต้องมีระบบอัดอากาศโดยใช้เครื่องกล
ช่องถ่ายเทอากาศและระบบอัดอากาศ มีไว้ให้ความดันอากาศภายในปล่องบันไดหนีไฟ มีแรงดันมากกว่าภายในอาคาร หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ควันในอาคารจะถูกความดันอากาศในปล่องดันเอาไว้ ไม่ให้ควันไฟไหลเข้ามาในบันไดหนีไฟ
หากประตูบันไดหนีไฟส่วนที่ติดกับอาคารถูกเปิดทิ้งไว้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความดันอากาศในปล่องบันไดแตกต่างกับความดันอากาศภายในอาคารน้อยลง ผลคือควันไฟจะไหลเข้าไปในปล่องบันไดหนีไฟได้ง่ายขึ้น ทำให้ปล่องบันไดหนีไฟอาจกลายเป็นปล่องหายนะ
หากควันไหลเข้าไปได้ บันไดหนีไฟซึ่งเป็นปล่องขนาดเล็กต่อเนื่องทุกชั้น จะทำให้ควันไฟจะลอยสูงขึ้นไปสะสมเป็นกลุ่มควันอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากบันไดหนีไฟเป็นความหวังในการหนีไฟ ผู้ที่หนีไฟที่กำลังอพยพอยู่เหนือกลุ่มควันนั้นย่อมขาดออกซิเจน และหมดสติ และอาจถึงตายได้
แม้จะมีเหตุผลที่จะเปิดประตูบันไดหนีไฟทิ้งไว้อย่างไร ประตูบันไดหนีไฟที่ถูกเปิดทิ้งเอาไว้คือความเสี่ยงและประมาทจากความไม่รู้ที่ไม่ควรละเลย
อุบัติเหตุและหายนะ มักเกิดจากความไม่จงใจจะผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ มาป๊ะกันพอดี ฉะนั้นการลดความผิดพลาดเรื่องหนึ่งไปได้ ก็เท่ากับลดหายนะภัยได้อีกส่วน
ขอบคุณบทความจาก zmyhome.com
พรีโม แมเนจเม้นท์ รับบริหารอาคารชุด บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด พร้อมช่างอาคาร นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร บริการงานรักษาความสะอาด และบริการรักษาความปลอดภัย