ลดหย่อนภาษี ด้วยการซื้ออสังหาฯ ลดได้เท่าไร อัปเดต ปี 2566

ลดหย่อนภาษี

ภาษี เป็นหน้าที่ที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจ่ายเงินภาษีนั้นสามารถทำเรื่องขอคืนเงินภาษีได้จากการทำเรื่องขอ ลดหย่อนภาษี โดยมีหลากหลายวิธีให้เลือกในการลดหย่อน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อประกันชีวิต การบริจาค หรือแม้กระทั่งการผ่อนบ้าน และคอนโด ก็สามารถนำมา ลดหย่อนภาษี ได้

ลดหย่อนภาษี มีกี่ประเภทอะไรบ้าง ?

  1. ลดภาษีส่วนตัว และครอบครัว
  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
    • กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
    • กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
    • กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ

ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา – บุตร – คู่สมรสของตนเอง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน ตัวอย่างเช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และเป็นผู้พิการ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท และค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ 60,000 บาท)

2. กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

  • เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) เนื่องจากปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม
  • เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
  • เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
  • เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนประกันชีวิตและการลงทุนในการวางแผนเกษียณ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุน SSF กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมด ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. เงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร

4. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

  • สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือ การกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านใหม่ คอนโด หรือ หารสร้างที่อยู่อาศัย จะอยู่ใน ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถนำไปลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุด 100,000 บาท / ปี
  • ไม่ต้องอยู่อาศัยครบปีก็สามารถนำดอกเบี้ยกู้ยืมมาลดหย่อนได้ เช่น เริ่มผ่อนเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ก็สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายไปตามจริงของ 3 เดือนนั้น ไปคิดเพื่อลดหย่อนภาษีได้
  • ในกรณีกู้ร่วม สามารถแบ่งสิทธิ์ลดหย่อนได้ตามจำนวนผู้กู้ร่วมสูงสุด 100,000 บาท / ปี เช่นเดียวกัน เช่น กู้ร่วม 2 คน สามารถนำไปแบ่งลดหย่อนได้ คนละ 50,000 บาท เป็นต้น

𝐏𝐫𝐢𝐦𝐨 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞 𝐒𝐨𝐥𝐮𝐭𝐢𝐨𝐧𝐬

ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร มุ่งเน้นการให้บริการอย่างมืออาชีพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่

📱 Tel : 02-0810000

🌏 Website: https://primo.co.th/

📶 Line : https://lin.ee/Jt3nhkF

#PrimoServiceSolutions#Happymaker#SuperLivingServices#propertymanagement#agent#interior#cleaningservice#hotelservice