โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลว่า ภาวะ หยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ
เป็นอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้ พบได้ในทุกอายุ โดยมักจะพบมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือกลุ่มคนที่น้ำหนักตัวมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่สังเกตถึงความผิดปกติในขณะหลับของตนเอง บ่อยครั้งที่ผู้พบความผิดปกติเป็นคู่สมรสหรือคนใกล้ชิด
ภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ อันตรายที่ไม่สมควรมองข้าม
กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลว่า “ในช่วงการนอนหลับ สมองไม่ได้หยุดทำงาน แต่เป็นช่วงจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นระบบ” โดย ภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ ถูก เชื่อมโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว จัดระเบียบความคิด การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ออกซิเจนในกระแสเลือดลดต่ำลง หล่อเลี้ยงอวัยะต่างๆ ไม่เพียงพอ สมองจะมีการตรวจจับระดับออกซิเจนและสั่งการกระตุ้นให้ตื่นตัว เพื่อให้หายใจรับออกซิเจน ทำให้คนนอนกรนมีช่วงการหลับลึกสั้น
เป็นการหลับระยะตื้นๆ อยู่ตลอด หากปล่อยไว้นาน นอกจากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง อย่างโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง ยังเพิ่มโอกาสการเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น”
การนอนกรนดังประจำ เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น
ทั้งนี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการยุบตัว ของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ขณะหลับร่างกายจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นช่วงๆ การนอนหลับจะขาดตอน ส่งผลต่อการทำงานของสมองจนเกิดอาการง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง ได้
ภาวะเช่นนี้ พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยทอง และคนอ้วน หรืออาจพบในเด็กที่มีต่อมทอนซิล และอะดีนอยด์โต จากปัญหาโครงสร้างใบหน้า หรือเด็กที่อ้วน
สัญญาณเตือนภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สังเกตจากการนอนกรนเสียงดังเป็นประจำ หายใจแรง เสียงดังเป็นพักๆ สลับนิ่งเงียบ หายใจเฮือกเหมือนสำลักน้ำลาย บางครั้งตื่นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริต หรือซึมเศร้า
ทั้งนี้ หากมีอาการ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อเข้าตรวจวินิจฉัย และหาแนวทางการรักษา โดยด่วน
อาการ หยุดหายใจขณะหลับ อัปเดต 2566
อาการที่บ่งบอกว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเช็กได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางบุคคลยากที่จะระบุอาการได้ว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นควรพบแพทย์เมื่อมีอาการข้างต้นดังกล่าว 2-3 ข้อขึ้นไป
- นอนกรนเสียงดังมาก และกรนดังเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
- มีลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยอาการเหมือนสำลักขณะนอนหลับ
- หายใจติดขัด หายใจแรง เวลานอน
- รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย
- ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น มีอาการปวดศีรษะ
- ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน เช่น ขณะทำงาน หรือหลับในขณะขับรถ
- รู้สึกหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดีบ่อยๆ
- ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม
- ความรู้สึกทางเพศลดลง
กลุ่มเสี่ยง คือ ?
- โรคอ้วน
- ผู้ที่มีต่อมทอนซิลโต
- ผู้ที่มีริดสีดวงจมูก
- ผู้ที่อายุ 35 ปี ขึ้นไป
- ผู้ที่มีคางสั้น คอสั้น ปากเล็ก ลิ้นโต หน้าแบน
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ภาวะนี้มีขั้นตอนและวิธีการรักษาหลายรูปแบบทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระดับอาการ และความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับแต่ละรายด้วย ดังนี้
- การปรับพฤติกรรม ทำได้ด้วยการดูแลให้น้ำหนักอยู่ในระดับมาตรฐาน พยายามอย่านอนหงายนอนให้ระดับศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามเลี่ยงยาที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน เพราะจะมีผลต่อสมองส่วนกลาง งดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- รักษาจากโรคต้นเหตุ หากพบว่ามีโรคร้ายที่เป็นเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อหรือระบบประสาท เป็นต้น
- รักษาด้วยเครื่องมือ ผ่านเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP เพื่อค้ำการหย่อนของกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือใส่เครื่อง Oral Appliance ในช่องปากเพื่อปรับขากรรไกรช่วยให้ทางเดินหายใจมีพื้นที่มากขึ้น
- รักษาผ่านการผ่าตัด การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัดคือทำให้ระบบทางเดินหายใจมีพื้นที่กว้างขึ้น หรือลดการหย่อนลง เช่น การผ่าตัดจมูก การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน หรือการผ่าบริเวณคอหอย เป็นต้น
3 วิธีง่าย ๆ ช่วยป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยตนเอง
- ดูแลน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน ทั้งการทานของที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเล่นโยคะสามารถช่วยพัฒนาระบบหายใจได้
- เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง ท่านอนที่ช่วยเลี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ให้พยายามนอนตะแคงเพราะสามารถช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- งดแอลกอฮอล์และบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดความผิดปกติ หรือบวมขึ้นจนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้
แนวทางการรักษา Sleep Apnea (โรคหยุดหายใจขณะหลับ)
สำหรับแนวทางการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรค โดยดูจากประวัติอาการบอกเล่าของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด การตรวจร่างกาย และผลการทดสอบการหยุดหายใจขณะหลับ หรือผล Sleep Test
การตรวจ Sleep test เป็นการตรวจด้วยเครื่องตรวจเฉพาะ โดยจะตรวจสัญญาณของร่างกายขณะหลับได้พร้อมๆ กันหลายส่วน เช่น การตรวจวัดลักษณะการหายใจ เพื่อดูจำนวนครั้งของการหยุดหายใจ การทำงานของสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ปริมาณอากาศในการหายใจเข้าออก และปริมาณออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
เมื่อพบสาเหตุหรืออาการผิดปกติ แนวทางการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค ดังนี้
1. กรณีที่อาการอยู่ในระดับน้อย (Mild OSA)
อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการนอน ด้วยการฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย และการนอนเอนตัวในท่ากึ่งนอนกึ่งนั่ง หากมีน้ำหนักตัวมากอาจแนะนำให้ลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัว
2. กรณีที่อาการอยู่ในระดับปานกลาง (Moderate OSA)
อาจทำการรักษาด้วยเครื่อง CPAP และ หน้ากาก CPAP ซึ่งเป็นการใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยขยายทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ ทำให้หายใจเอาอากาศเข้าได้ในปริมาณสูงขึ้น ป้องกันอาการนอนกรนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ Sleep Apnea
3. กรณีที่อาการอยู่ในระดับรุนแรง (Severe OSA)
และใช้แนวทางการรักษาหลายๆ วิธีมาแล้วไม่ได้ผล หรือไม่ทำให้อาการลดความรุนแรงลง แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพดานอ่อน ผ่าตัดกระดูกกราม หรือการเจาะคอเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าเป็นข้าราชการก็สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่าตรวจและรักษาได้ ส่วนการเบิกประกันสังคมนั้นยังไม่สามารถทำได้ ยกเว้นบางรายที่มีความจำเป็นมากและต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้ประเมินและสั่งตรวจให้
อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม คลิก
𝐏𝐫𝐢𝐦𝐨 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞 𝐒𝐨𝐥𝐮𝐭𝐢𝐨𝐧𝐬
เป็นผู้นำในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่แบบครบวงจรและกำกับดูแลกิจการในกลุ่มบริษัทในเครือ ให้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาและลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫 𝐋𝐢𝐯𝐢𝐧𝐠 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞𝐬, 𝐇𝐚𝐩𝐩𝐲 𝐌𝐚𝐤𝐞𝐫
Tel : 02-0810000
Website: https://primo.co.th/
Line : https://lin.ee/Jt3nhkF