ต้นกำเนิดของลิฟต์คือประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปิดประเดิมให้ประชาชนได้ใช้บริการกันเมื่อ 150 ปีมาแล้ว (ค.ศ. 1857) แม้จะใช้มันมาอย่างเนิ่นนานและมีพัฒนาเทคโนโลยีกันอย่างต่อเนื่อง
แต่นักวิจัยอเมริกันต้องตกใจ เมื่อพบว่า ตัวเลขคนบาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะลิฟต์นั้นมันมากมายอย่างคาดไม่ถึง โดยส่วนใหญ่เกิดจากโดนประตูลิฟต์หนีบ-สะดุดหกล้มตอนที่ก้าวเท้าเข้า หรือออกจากลิฟต์โดยที่ลิฟต์ยังจอดไม่สนิท (แต่บ้านเราที่เป็นข่าวบ่อยๆก็คือ…ข่าวลิฟต์ก่อสร้างร่วงกระแทกพื้น พร้อมคนงาน)
นอกจากนั้นยังพบอีกว่า ลิฟต์ในสหรัฐฯที่เลยกำหนดการตรวจเช็คมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองนิวยอร์กมีลิฟต์ไม่น้อย ที่ไม่ได้ตรวจสอบมานานถึง 3 ปีครึ่ง (จากรายงานข่าว ของ abc news)
แม้ว่าลิฟต์จะไม่ใช่สิ่งอำนวยความสะดวกที่ปลอดภัยทั้ง 100% แต่…ตัวเลขของภัยที่เกิดจากความบกพร่องชำรุดของลิฟท์นั้น เทียบไม่ได้เลยกับสาเหตุที่เกิดจากความประมาทของ “คน”ที่ใช้ลิฟต์…และ
ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจนำไปสอนลูกๆหลานๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ลิฟต์ครับ
1 ) สอนลูกๆว่า … ลิฟต์เขามีไว้ใช้งาน เพื่อให้คนเดินขึ้นหรือลงหลายๆชั้นจะได้ไม่เมื่อย ดังนั้นมันย่อมไม่ใช่เครื่องเล่นในสวนสนุก ที่ขึ้นๆลงๆด้วยความสะใจ และปุ่มในลิฟต์ก็ไม่ใช่ปุ่มคีย์บอร์ดของเกมออนไลน์ ที่พอเข้ามาในลิฟต์ปั๊บก็กดปุ่มปุ๊บ
แล้วก็กดๆๆๆๆ กดทุกเบอร์ทุกปุ่มที่มี ด้วยความมันส์ เพราะนั่นอาจสร้างความเดือดร้อนและอันตรายให้กับคนส่วนใหญ่และตนเอง ถ้าลิฟต์ค้าง หรือ เกิดร่วงลงมา
2 ) ลิฟต์ไม่ใช่เครื่องเล่นผาดโผน ดังนั้นจงอย่าเอาอย่างวัยรุ่นฝรั่ง(บางกลุ่ม) ที่ชอบท้าความตาย โดยใช้ชื่อกลุ่ม ว่า Elevator Surfing โดยงัดช่องเพดานลิฟต์ แล้วขึ้นไปยืนแอ่นอยู่บนหลังคนตู้ลิฟต์ โดยเด็กชายวัย 15 ผู้ประกาศตัวว่าเป็นแชมป์
“ลิฟต์เซิร์ป” แล้วต่อมาไม่นานได้พลาดเข้าไปติดกับสายเคเบิล ในสภาพหัวห้อยโตงเตงและสิ้นใจตายในที่สุด
3 ) น้ำท่วม…ฟ้าผ่า…แผ่นดินไหว…ไฟไหม้ “ห้ามใช้ลิฟต์” น้ำท่วมห้ามใช้ลิฟต์ เพราะ ในขณะนั้น กระแสไฟฟ้ามักจะถูกตัดในขณะใดก็ได้ ถ้าเวลานั้นเราอยู่ในลิฟต์ ก็อาจติดค้างในนั้นก็ได้ ฟ้าผ่า หรือพายุฝนฟ้าคะนองห้ามใช้ลิฟต์ เพราะอาจไฟดับ(โดยเฉพาะลิฟต์รุ่นเก่าๆ ที่ไม่มีไฟฟ้าฉุกเฉินสำรอง) ทางที่ดีก็คือ ให้อยู่ภายในอาคารนั่นแหละครับ แล้วรอจนกว่าฝนฟ้าจะสงบแล้วจึงค่อยใช้ลิฟต์ แผ่นดินไหวห้ามใช้ลิฟต์ แม้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้น้อยและไม่รุนแรงเมื่อบ้านเมืองอื่นเขา แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย(มิฉะนั้นคงไม่เกิด “ซึนามิ”) มีข้อแนะนำว่า เมื่อแผ่นดินไหว ให้อยู่ห่างจากหน้าต่าง,ประตู,กระจก และ หลีกเลี่ยงจากใช้ลิฟต์หากจำเป็นก็ ให้มุดลงใต้โต๊ะทำงาน เพื่อศีรษะจะได้ไม่ถูกวัตถุสารพัดชนิดหล่นใส่ ไฟไหม้ห้ามใช้ลิฟต์ อย่าเผลอใช้ลิฟต์เป็นทางหนีไฟ ให้วิ่งลงทางบันไดหนีไฟดีกว่าครับ
4 ) เด็กๆหลายคนอาจไม่รู้มาก่อนเลยว่า ลิฟต์บางแห่งนั้นมีสองประตู นั่นทำให้เด็ก(หรือผู้ใหญ่)ที่ชอบยืนพิงผนังลิฟต์ถึงกับล้ม หรือ ร่วงจากลิฟต์ลงมา! ดังนั้นวิธีสังเกดก็คือ ให้ดูจากเส้นแบ่งครึ่งที่ประตูลิฟต์
5 )เมื่อประตูลิฟต์เปิด แล้วเห็นคนยืนอยู่กันแน่น ก็ให้รอรอบต่อไป อย่าฝืนโดยพยายามอัดเข้าไปให้ได้ เพราะจะทำให้ลิฟต์ค้างและเกิดอันตรายได้ครับ
6 ) การยืนรอลิฟต์ที่จะได้ทั้งความปลอดภัย และมารยาทอันดีนั้น ก็คือ …การยืนเข้าแถวก่อน-หลัง โดยยืนสองข้างซ้าย-ขวา แล้วเว้นช่วงประตูหน้าลิฟต์ เพื่อให้คนที่อยู่ในลิฟต์ได้ออกมาก่อน
7 ) หากยืนอยู่ไกลจากปุ่มกดขึ้นลงชั้นต่างๆนั้น ไม่ต้องพยายามแทรกตัว หรือยื่นมือเบียดผู้อื่นเพื่อไปกด แต่ให้บอกผู้ที่อยู่ใกล้ปุ่มกดช่วยกดให้ด้วย โดยบอกด้วยความสุภาพ และขอบคุณทุกครั้งที่เขาช่วยกดให้
8 ) สำหรับข้อแนะนำสำหรับคุณผู้หญิง หรือนักเรียนหญิงก็คือ* หากมองเข้าไปในลิฟต์ แล้วเห็นผู้ชายลักษณะน่ากลัว
หรือดูท่าจะไม่น่าไว้ใจได้ก็ไม่ควรเข้าไปในลิฟต์
*หรือในขณะที่ยืนอยู่ในลิฟต์ แล้วพบผู้ชายแปลกหน้าท่าทางไม่น่าไว้ใจทำท่าจะเข้ามา ให้รีบเดินออกจากลิฟต์ทันทีครับ
*เมื่ออยู่ในลิฟต์ให้เลือกยืนใกล้ปุ่มกดขึ้นลง หรือจุดที่ใกล้ประตู (เพื่อเตรียมออก)
จะปลอดภัยกว่าการเลือกยืนตรงกลาง หรือติดผนังลิฟต์ด้านในสุด
9 ) ถ้าติดค้างในลิฟต์ ต้องใจเย็น อย่าร้อนรนเกินไปจนหายใจหอบ เพราะจะทำให้เหนื่อยและอาจเป็นลมได้ ให้กดสัญญาณขอความช่วยเหลือ หรือสัญญาณติดต่อภายนอก(Emergency Phone)
10 ) เพื่อความปลอดภัย ได้ออกกำลังกาย และช่วยประหยัดหากจะขึ้นหรือลงที่ไม่กี่ชั้น และพอไหว ก็ใช้ “เดิน”กันเถิดครับเพราะเป็นที่รู้กันว่า การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีเยี่ยมแล้วคุณยังได้ชื่อว่า “ประหยัดช่วยชาติ” เพราะทราบหรือไม่ว่า…การกดลิฟต์แต่ละครั้งนั้น เท่ากับสูญเสียพลังงานไปครั้งละ 7 บาท