หลายๆ คน คงปาดเหงื่อกับค่าไฟฟ้าในยุคปัจจุบันที่มีราคาอันแสนแพงอย่างแน่นอน และคงเริ่มหาวิธีต่างๆ เพื่อลดค่าไฟ พยุงค่าใช้จ่าย โดยหลายคนจึงได้หันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองได้ และถ้าเหลือใช้ยังสามารถ ขายไฟคืนการไฟฟ้า ได้อีกด้วย
รู้จักคุณสมบัติของผู้ที่จะขายไฟคืน
- ผู้ยื่นจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ประเภทบ้านอยู่อาศัย (ประเภทที่ 1) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ที่จะติดตั้งหรือติดตั้ง Solar PV Rooftop แล้ว โดยเน้นให้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า และส่วนที่เหลือสามารถขายคืนได้ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.2 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี
- ต้องเป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (ชื่อเดียวกับชื่อในบิลค่าไฟฟ้า) และเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าต้องเป็นทรัพย์สินของการไฟฟ้า
- ในกรณีชื่อผู้ที่ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่ตรงกับชื่อเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า อาทิ มีการซื้อขายบ้าน เจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเดิมถึงแก่ความตาย หรือ มีการเปลี่ยนชื่อ-สกุล ให้ติดต่อการไฟฟ้าในพื้นที่ที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อแก้ไขหรือโอนเปลี่ยนเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าให้ถูกต้องก่อนยื่นขอผลิตไฟฟ้า
ขายไฟคืนการไฟฟ้า หรือ ขายไฟฟ้าคืนการไฟฟ้า ทำอย่างไร ?
- ผู้ที่ต้องการขายไฟให้ดำเนินการสมัครบัญชีผู้ใช้งานในระบบ PPIM แล้วก็ลงทะเบียนเพื่อเข้าระบบให้เรียบร้อย
- เลือกหมายเลข CA พร้อมกรอกรายละเอียดต่างๆ ตามคำขอ และโอพโหลดเอกสารรายละเอียดต่างๆ ตามที่การไฟฟ้ากำหนดเข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย
- การไฟฟ้าจะพิจารณาเอกสารต่างๆ แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้กับผู้ยื่นขอขายไฟผ่านทางอีเมล์
- การไฟฟ้าจะประกาศผลการคัดเลือกในระบบ PPIM ภายใน 45 วัน โดยจะประกาศในวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน
- ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องชำระค่าเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า และจัดส่งต้นฉบับแบบคำขอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสารประกอบตามที่การไฟฟ้ากำหนด ที่การไฟฟ้าเขตพื้นที่รับผิดชอบภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดคำขอจะถูกยกเลิก
- ผู้ผ่านการคัดเลือกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 270 วัน
- ผู้ยืนขอทำการตรวจสอบระบบ และติดตั้งระบบต่างๆ ให้ตรงกับรายละเอียดที่ยื่นไว้กับการไฟฟ้า และขอเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ให้เรียบร้อย
- ทางการไฟฟ้าจะเข้าทำการตรวจสอบระบผลิตไฟฟ้า และเปลี่ยนมิเตอร์ให้ใหม่ พร้อมกับทดสอบการเชื่อมต่อเข้าระบบโครงค่ายไฟฟ้า
สำหรับค่าใช้จ่ายในการยื่นขอ ขายไฟคืนการไฟฟ้า หรือ ขายไฟฟ้าคืนการไฟฟ้า ราคาอยู่ที่ 2,000 บาทเท่านั้น (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเราสามารถขายไฟให้กับการไฟฟ้าได้หน่วยละ 2.20 บาท
ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตขายไฟฟ้า
- ขั้นตอนเริ่มจากการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า Online ลงทะเบียนยื่นความจำนงได้ที่ https://myenergy.mea.or.th/ หรือ https://ppim.pea.co.th/
- ผู้ยื่น หรือ ผู้ขายระบบโซลาร์เซลล์ที่ได้รับมอบอำนาจ อัปโหลดเอกสาร หลังจากนั้นจะต้องรอการไฟฟ้า พิจารณาแบบคำขอขายไฟฟ้า ประมาณ 7-10 วัน พร้อมทั้งตรวจสอบ Capacity หรือขนาดพิกัดสูงสุดของหม้อแปลงว่าสามารถรับกำลังผลิตระบบโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่
- หลังจากนั้นจะแจ้งผล ซึ่งตั้งแต่เริ่มการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า จนถึงประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อเสร็จแล้วจะต้องดำเนินการชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่เขตพื้นที่การไฟฟ้าที่ให้การดูแล
- โดยหลังติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ทางการไฟฟ้าจะทำการนัดหมายเพื่อตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า และทดสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าและกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)
ข้อมูลจากการไฟฟ้าที่ได้ประกาศเอาไว้
ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาประเภทบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า 5 MWp ต่อปี ดังน้ัน PEA จึงขอเปิดรับคำขอขายไฟฟ้าโครงการฯ ผ่านระบบ PPIM ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
PEA ข้อควรทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ ขายไฟฟ้าคืน
- ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านอยู่อาศัยกับ PEA เท่านั้น
- เน้นให้ติดตั้ง Solar Rooftop ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Self Consumption) และไฟฟ้าที่เหลือสามารถขายไฟฟ้าได้
- กำลังผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ (PV) ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ต่อรายสำหรับ เชื่อมต่อแบบ 3 เฟส (220/380 V) และ ไม่เกิน 5 kWp ต่อราย สำหรับเชื่อมต่อแบบ 1 เฟส (220 V)
- ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าเป็นผู้ลงทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เองทั้งหมด
- PEA จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ภายหลังได้รับการพิจารณา ในราคา 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- ราคาที่ PEA รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.2 บาท/หน่วย (kWh) ระยะเวลา 10 ปี
- ปริมาณรับซื้อรวมในพื้นที่ PEA ปริมาณ 5 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี
- รับข้อเสนอแบบ First come First served ผ่านเว็บไซด์นี้ https://ppim.pea.co.th
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา และประกาศผล ภายใน 45 วันนับจากวันที่ยื่นคำขอฯ ได้ที่ https://ppim.pea.co.th/project/solar/list
- โปรดแนบบิลค่าไฟฟ้าหรือหลักฐานการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน (บิลค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 3 เดือน) สอดคล้องกับข้อมูลผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการและผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล , เลขที่บ้านที่ติดตั้ง, ประเภทใช้ไฟฟ้าโดยหากข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ให้ติดต่อ สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ใช้ไฟฟ้า (ตามบิลค่าไฟฟ้า) เพื่อขอแก้ไขข้อมูลให้แล้วเสร็จ ก่อนยื่นเข้าร่วมโครงการ
MEA ข้อควรทราบก่อนเข้าร่วมโครงการ ขายไฟฟ้าคืน
- MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐบาลด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2565 รับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลาสัญญา 10 ปี ตามนโยบาย กพช.
- เปิดรับสมัครเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในเขตจำหน่ายของ MEA กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
- ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านทางเว็บไซต์ https://myenergy.mea.or.th
- เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งหากต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้านั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องขออนุญาตเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าและติดตั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของ MEA โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ชำนาญการเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันเหตุอันตรายกับเจ้าหน้าที่ MEA ที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งไม่ให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและคุณภาพโครงข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเชื่อมต่อกับ MEA ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
1. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร
ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนานกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านอยู่อาศัย อาคารหรือสถานประกอบการเป็นหลัก โดยไม่ขายไฟฟ้าให้กับ MEA โดยการยื่นแบบคำขอเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ MEA เพื่อให้พิจารณาตามระเบียบ MEA ว่าด้วย ข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า การใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการปฏิบัติการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งประกาศใช้ ณ ปัจจุบัน
2. การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ภายในอาคาร และขายส่วนที่เหลือให้ MEA โครงการ Solar ภาคประชาชน
การจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของ MEA ที่ติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลักและขาย ส่วนที่เหลือให้กับ MEA ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาท/หน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี
สำหรับ ผู้สนใจจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 รวมถึงแจ้งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
การติดตั้งระบบโซลาเซลล์ เพื่อใช้ไฟในเวลากลางวันอย่างเต็มที่และเผื่อขายให้การไฟฟ้าด้วย อาจมีระยะคืนทุนภายใน 7-8 ปี เรียกว่าคุ้มค่าพอสมควร แต่หากจะติดตั้งเพื่อขายไฟอย่างเดียว จะคืนทุนนานราว 16 ปี
โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและรายการเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ :
การไฟฟ้านครหลวง (MEA): https://myenergy.mea.or.th/
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) : https://ppim.pea.co.th/