Eastern Economic Corridor: EEC โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
EEC คืออะไร? EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทยเรียกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
มีเป้าหมายอย่างไร? ส่งเสริม การลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้ เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง, และ ฉะเชิงเทรา
ทำไมต้องเป็นพื้นที่ของ 3 จังหวัดนี้? เพราะทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศอยู่แล้ว อุดมไปด้วยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบิน รวมถึงมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก EEC จึงเล็งพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่มีมีความพร้อมสูงสุดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
โครงการนำร่องของ EEC มีอะไรบ้าง? EEC จะมีส่วนในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมในการอยู่อาศัย พักผ่อน และประกอบธุรกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความทันสมัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่เดิมและผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จาก EEC เป็นอันดับต้น ๆ เช่น Manufacturer หรือ ผู้ผลิต ไปสู่ผู้ค้าขายอย่าง SMEs, Traders/ Dealers/ Suppliers และยังรวมไปถึงธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่าง Startup ก็อยู่ในสายตามของ EEC เช่นกัน
EEC กับ สิทธิประโยชน์ทางภาษี EEC ถือเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน และผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษแห่งนี้จะได้รับสิทธิพิเศษจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แก่
1. เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี จากสิทธิประโยชน์เดิมของบีโอไอ
2. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะ 15 ปี (ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย) นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจาก กระทรวงการคลัง ซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 17% สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือการเป็นสำนักงานใหญ่เขตภูมิภาค และการลงทุนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC
Alibaba ยังให้ความสนใจ EEC มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ EEC และหนึ่งในนั้น คือ Alibaba ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ E-Commerce โดยผู้บริหารผู้มีอำนาจแทนได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องฝั่ง EEC ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Fifth Generation E-Commerce Park’ เพื่อเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การขนส่ง และการอบรมความรู้ด้าน E-Commerce ในพื้นที่
สรุป โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เป็นโครงการใหญ่ที่น่าจับตามอง เมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามแผนงาน จะสร้างแรงสั่นสะเทือนเชิงบวกทางเศรษฐกิจและนี่อาจทำให้ประเทศไทยกลับมาคึกคักในฐานะหนึ่งศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งเอเชีย