อาชีพอิสระกู้ซื้อบ้าน ได้หรือไม่ อัปเดต 2566

อาชีพอิสระกู้ซื้อบ้าน

ทำ อาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ (Freelance) ต่างก็มีความฝันในการมีบ้านสักหลัง แต่อาจจะเป็นกังวลว่า “รายได้ไม่ประจำ” จะทำการกู้ได้หรือไม่ ธนาคารจะอนุมัติวงกู้กู้ไหม คงเป็นคำถามที่ยังวนเวียนในหัว แต่ไม่ต้องกังวลไป วันนี้เราได้รวบรวมมาให้แล้ว ว่า อาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ (Freelance) นั้นต่างก็กู้บ้านได้ แต่มีข้อกำหนดหลายๆ อย่าง ไปดูกันได้เลย

อาชีพอิสระกู้ซื้อบ้าน ได้ไหม ? อัปเดต 2566

อาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ (Freelance) กู้ซื้อบ้านได้ไหม คำตอบคือ กู้ได้ แต่ ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ รายได้ไม่ประจำ จะะยากกว่าคนทำงานประจำ เพราะธนาคารมองว่า อาชีพอิสระนั้นไม่มั่นคง มีรายได้ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ชัดเจน ความเชื่อมั่นจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำจนยากที่ธนาคารจะยอมรับความเสี่ยงได้

โดยธนาคารจึงต้องขอเอกสารทางการเงินเพื่อยืนยันรายได้ และแหล่งที่มาของรายได้ของผู้ยื่นกู้เพื่อใช้พิจารณาว่า สามารถให้สินเชื่อได้หรือไม่ รวมไปถึงเพื่อประเมินวงเงินที่สมเหตุสมผลกับรายได้ของผู้ยื่นกู้ โดยที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ชำระคืนหรือชำระคืนไม่ไหวน้อยที่สุด 

ดังนั้น โจทย์ของธนาคาร คือ ต้องการสิ่งที่สามารถยืนยันรายได้ของผู้ยื่นกู้ได้ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นสลิปเงินเดือนเสมอไปเท่านั้น เพียงแต่ว่า สลิปเงินเดือนเป็นสิ่งที่พนักงานประจำหรือคนที่มีเงินเดือนเข้าอย่างสม่ำเสมอ เป็นเอกสารทางการเงินที่ช่วยยืนยันรายได้ได้อย่างชัดเจน 

กรณีคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ ก็สามารถยื่นขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารได้ เพียงแต่เรื่องของการเตรียมตัวและเอกสารการเงินที่ต้องใช้ยืนยันกับธนาคาร จะมีความแตกต่างและซับซ้อนมากกว่าคนที่มีสลิปเงินเดือนอยู่บ้าง 

ธนาคารพิจารณาปล่อยกู้อาชีพอิสระจากอะไรบ้าง ?

  • รายได้เฉลี่ยต่อเดือน
  • ประเภทอาชีพอิสระ จำนวนต้นทุนมากน้อยส่งผลต่อการคิดฐานรายรับ
  • สัญญาจ้างงาน เป็นแบบมีระยะเวลาหรือไม่มีระยะเวลา
  • อายุงานอย่างต่ำควรอยู่ที่ 2 ปีขึ้นไป ดูความสม่ำเสมอของงานและรายได้
  • รายการบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน แสดงความเคลื่อนไหวทางธุรกรรมโดยเฉพาะรายรับต้องตรงกับค่าจ้างในแต่ละเดือน
  • ภาระหนี้สิน ไม่ควรมีหนี้สินที่กำลังผ่อนอยู่มากเกินไปและต้องมีการชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอไม่ค้างหนี้

เทคนิคยื่นกู้บ้านของอาชีพอิสระ 

การยื่นกู้บ้านของอาชีพอิสระมีหลากหลายเทคนิคทั้งจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร จากประสบการณ์การตัวอย่าง ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ของอาชีพอิสระนั้นคือการเตรียมเอกสารให้พร้อม รวมถึงวินัยในการเก็บออม การยื่นภาษีต่าง ๆ ดังนี้

1. เตรียมเอกสารยื่นกู้ให้พร้อม

  • สำเนาบัตรประชาชนผู้กู้
  • สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
  • ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
  • บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ/รายการเดินบัญชี Statement ย้อนหลัง 6 เดือน – 1 ปี
  • ใบจองซื้อ/สำเนาโฉนดที่ดิน
  • เอกสารเพิ่มเติมสำหรับอาชีพ Freelance
  • Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 12 เดือน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90)
  • ใบเสร็จรับเงินชำระภาษีประจำปี
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ)
  • ใบสัญญาจ้างงาน อาจมีเอกสารอื่น ๆ ร่วมด้วย

2. จ่ายภาษีและยื่นแบบครบถ้วนทุกปี

การจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพอิสระ ไม่ว่ารายได้จะมากหรือน้อยทุก ๆ ปีเราต้องยื่นแบบภาษีภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เมื่อยื่นแบบภาษีแล้วก็จะได้รับเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จ เช่น ควรเก็บย้อนหลังนาน 2-3 ปี  

3. ไม่มีหนี้สิน ไม่ติดเครดิตบูโร

ธนาคารที่ยื่นกู้จะมีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรมโดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็น ผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า บัตรกดเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมต่าง ๆ คือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า “เครดิตบูโร” นั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดี ไม่มีหนี้สินก็จะทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ของเราสะดวกยิ่งขึ้น

4. วินัยในการออมเงิน 

การที่เรามีบัญชีเงินออม ฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยแสดงศักยภาพและความมีวินัยด้านการเงินของเรา แม้ว่าจะทำอาชีพอิสระก็ตาม ทั้งนี้สามารถเลือกบัญชีเงินออมทรัพย์ของธนาคารไหนก็ได้อีกเช่นกัน

5. การกู้ร่วม  

“กู้ร่วม” คือ การร่วมทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน เพื่อให้ทางธนาคารเห็นว่าจะมีอีกคนมาช่วยรับผิดชอบในวงเงินกู้ เพิ่มความมั่นใจความสามารถในการผ่อนชำระได้ตามกำหนด ทำให้ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เปรียบเสมือนทางเลือกที่ทำให้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการหาผู้กู้ร่วมในเครือญาติ หรือสามีภรรยามาร่วมรับภาระผ่อนวงเงินกู้ด้วยกัน ซึ่งผู้ที่กู้ร่วมกับเราก็จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงรายได้ชัดเจนเช่นกัน

หรือลองติดต่อธนาคารเพื่อสอบถาม คลิก

ขายของแบบ พาร์ทไทม์ กู้บ้านได้ไหม

จากการสัมภาษณ์คุณกนกวรรณ ใจศรี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Alternative Channel SCB ใน Facebook Live “Home Financial Clinic เคลียร์ ชัด จบ ทุกปัญหาเรื่องบ้าน ตอน “เก็บเงินซื้อบ้านยังไง โดยไม่หวังพึ่งโชคชะตา” ออกอากาศทาง Facebook Sansiri PLC วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ได้ให้คำตอบดังนี้

ส่วนคนที่ทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วขายของออนไลน์เป็นอาชีพที่ 2 สร้างรายได้เสริม ถ้าเงินเดือนจากงานประจำไม่ถึงเกณฑ์ที่จะขอสินเชื่อวงเงินที่ต้องการ ในการขอสินเชื่อบ้านกับ SCB เราสามารถเอารายได้จากการขายของออนไลน์มาคิดรวมเพื่อยื่นขอสินเชื่อได้

ตัวอย่างเกณฑ์รายได้ที่จะยื่นกู้วงเงินซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท แบบกู้เต็ม 100% อยู่ที่ 24,000 บาท  ถ้าเรามีรายได้เงินเดือนจากงานประจำ 20,000 บาท และมีรายได้เสริมจากขายของออนไลน์เดือนละประมาณ 4,000 บาท เราสามารถนำรายได้ที่ขายของออนไลน์มาบวกกับรายได้เงินเดือนประจำ เป็นรายได้รวมทั้งหมด 24,000 บาท เพื่อขอกู้ซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาทได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำอาชีพเสริมติดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อแสดงถึงความจริงจังในการหารายได้เสริม*

ต้องขอบคุณเทคโนโลยีออนไลน์ที่มาเปลี่ยนโลก สร้างช่องทางอาชีพใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้เราสร้างรายได้ได้มากขึ้น ที่สำคัญ ข้อดีของออนไลน์คือข้อมูลทุกอย่างอยู่ในระบบ ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่าเดิม ใครที่กำลังอยากเป็นเจ้าของบ้านในฝันสักหลัง ดูรายละเอียดและติดต่อขอสินเชื่อบ้าน SCB ได้ที่นี่ 

*ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

สำหรับคนไม่มีสลิปเงินเดือน เตรียมตัวยื่นกู้บ้าน ทำอย่างไร ?

สำหรับคนที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ทาง ธอส ได้ให้ข้อมูลดังนี้ ควรเตรียมตัวสำหรับการยื่นกู้สินเชื่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อสร้างพอร์ตการเงินที่น่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะยื่นขอสินเชื่อบ้านได้ผ่านฉลุย สิ่งที่ควรเตรียมตัว มีดังนี้

1. เดินบัญชีธนาคารให้สวย 

เดินบัญชีธนาคารโดยให้มีเงินเข้าในทุกๆ เดือนจำนวนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ธนาคารเห็นความสม่ำเสมอของรายได้ และมีการใช้จ่ายที่คาดเดาได้ หมายถึง ในแต่ละเดือนมีเงินออกจำนวนใกล้เคียงกัน แสดงถึงการวางแผนการใช้เงินอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้เงินให้หมดบัญชี ควรมีเหลือติดไว้บ้าง จะช่วยเพิ่มคะแนนในเชิงบวกเมื่อธนาคารพิจารณาให้สินเชื่อ

2. ยื่นภาษีเงินได้และเก็บเอกสาร ทวิ 50 

หลักฐานการยื่นภาษี เป็นอีกหลักฐานทางการเงินที่ธนาคารจะเรียกขอจากผู้ยื่นกู้ที่ไม่มีสลิปเงินเดือน เพราะหลักฐานการยื่นภาษีเงินได้ ถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันรายได้ขั้นต่ำของผู้ยื่นกู้ รวมถึง แนะนำให้เก็บใบทวิ 50 หรือ หนังสือรองรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีที่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยสามารถขอได้จากผู้ว่าจ้างงาน

3. ถ่ายรูปกิจการ (ร้านค้า บริษัท แผงลอย)

ถ่ายรูปกิจการสำหรับยืนยันแหล่งที่มาของรายได้ กรณีที่เป็นเจ้าของกิจการหรือธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า แผงลอย พื้นที่ให้เช่า หอพัก บริษัท ฯลฯ ให้ถ่ายรูปทั้งตัวอาคาร บรรยากาศการทำงาน และบรรยากาศของร้านในขณะที่มีลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ เพื่อยืนยันกับธนาคารว่า ผู้ยื่นกู้ได้ประกอบธุรกิจจริง จะช่วยให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น

4. ดูแลประวัติการผ่อนชำระสินเชื่ออื่นๆ

สะสางหนี้สินก้อนอื่นๆ ปิดบัตรเครดิต และตรวจสอบเครดิตบูโร (Credit Bureau) หรือประวัติการค้างชำระ รวมไปถึงตรวจสอบ “หนี้งอก” ที่ผู้ยื่นกู้อาจจะไม่ได้ก่อขึ้นเอง พยายามสะสางหนี้ให้เหลือน้อยที่สุดและชำระหนี้สินให้ตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ 

ทั้งนี้ การมีบัตรเครดิตหรือหนี้สินก้อนอื่นๆ ไม่ได้ส่งผลไม่ดีต่อการขอกู้สินเชื่อบ้าน หากผ่อนชำระสินเชื่ออื่นๆ ตรงกับงวด จะช่วยเพิ่มคะแนนความน่าเชื่อถือ สะท้อนถึงวินัยในการจัดการหนี้ของผู้ยื่นกู้ได้

5. เก็บออมเงินและลงทุน

หากเป็นไปได้แนะนำให้เก็บออมเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงถึงวินัยทางการเงิน ซึ่งประโยชน์ของการออมเงิน นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของธนาคารได้ ก็ยังเป็นเงินสำรองสำหรับการซื้อบ้าน/สร้างบ้านได้ และยังสามารถใช้เพื่อเป็นเงินดาวน์บ้าน (ตั้งแต่ 10% – 20% ของราคาประเมิน) เป็นเงินโปะสินเชื่อในอนาคต หรือสำหรับคนที่ไม่มีเงินประจำ หากมีเหตุให้รายได้สะดุด เงินออมสามารถใช้เป็นเงินสำรองผ่อนชำระได้

นอกจากนี้ ถ้าผู้เตรียมตัวยื่นกู้มีพอร์ตการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ธนบัตร สลากออมทรัพย์ ฯลฯ ก็สามารถยื่นเป็นเอกสารทางการเงินประกอบ เพื่อเพิ่มคะแนนในเชิงบวกในการอนุมัติสินเชื่อบ้านของธนาคารได้ 


𝐏𝐫𝐢𝐦𝐨 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞 𝐒𝐨𝐥𝐮𝐭𝐢𝐨𝐧𝐬

เป็นผู้นำในธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่แบบครบวงจรและกำกับดูแลกิจการในกลุ่มบริษัทในเครือ ให้พัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาและลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

𝐒𝐮𝐩𝐞𝐫 𝐋𝐢𝐯𝐢𝐧𝐠 𝐒𝐞𝐫𝐯𝐢𝐜𝐞𝐬, 𝐇𝐚𝐩𝐩𝐲 𝐌𝐚𝐤𝐞𝐫

Tel : 02-0810000

Website: https://primo.co.th/

Line : https://lin.ee/Jt3nhkF